กฎ 7 ประการเพื่อฝึกฝนจิตใจให้เข้าใจ กฎธรรมชาติ และนำมาซึ่งความสุข และความมั่งคั่ง โดย Deepak Chopra

กฎ 7 ประการเพื่อฝึกฝนจิตใจให้เข้าใจ
กฎธรรมชาติ และนำมาซึ่งความสุข
และความมั่งคั่ง โดย Deepak Chopra


Excerpt จากรายการ New Dimensions

FM 96.5 ทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 10.00 น.

โดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล

 


กฎ 7 ประการเพื่อฝึกฝนจิตใจให้เข้าใจกฎธรรมชาติ และนำมาซึ่งความสุขและความมั่งคั่ง โดย Deepak Chopra

     บทความที่นำเสนอสรุปประเด็นสำคัญจากหนังสือเรื่อง The Seven Spiritual Laws of Success หรือ กฎแห่งความสำเร็จ 7 ประการ แต่งโดย Deepak Chopra ซึ่งเป็นหมอชาวอินเดียอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็น 1 ใน 100 คนที่นิตยสาร Time Magazine บอกว่าทุกคนควรฟังท่านและปฏิบัติตามคำสอนของท่าน ผู้แต่งได้ผสมผสานความรู้ด้านการแพทย์ การทำสมาธิ (TM: Time Sententious Meditation) และคัมภีร์ฮินดูโบราณ ใช้เป็นแนวทางในการยกระดับจิตใจเข้าสู่ความสงบ ปลุกพลังจิตให้ตื่นขึ้นเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน และช่วยให้มองสิ่งต่างๆ ได้ตรงตามความเป็นจริง ผู้แต่งกล่าวว่าหากผู้ใดสามารถปฏิบัติตามกฎทั้ง 7 ข้อได้ด้วยความมุ่งมั่นและไม่ย่อท้ออย่างสม่ำเสมอ ผู้นั้นจะต้องร่ำรวยและมีความสุข กฎทั้ง 7 ประการมีดังนี้

     กฎข้อที่ 1 กฎแห่งความรู้สึกและความรู้เนื้อรู้ตัว (The Law of Pure Potentiality)
     มีสติพรั่งพร้อมทุกเวลาทุกสถานที่ สติ คือการรับรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้นและกาย การมีสติจะช่วยยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น ทำให้รู้สึกถึงพลังธรรมชาติ พลังพุทธะ พลังจักรวาล (Cosmic Energy) หรือพลังแห่งความรู้สึกซึ่งเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่งต่างๆ ในจักรวาล ผู้ที่เข้าถึงพลังดังกล่าวได้จะสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้ด้วยจิตที่สงบและมีความสุข มีปัญญาที่นุ่มลึก รู้เหตุ รู้ผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้เวลา รู้สถานที่ รู้บุคคล และรู้จักตัวเอง สามารถแยกแยะได้ว่าควรหรือไม่ควรทำอะไร รู้ว่าควรเลือกหรือควรหลีกเลี่ยงอะไร รู้ว่าตนเองกำลังทำอะไรกับชีวิต กำลังอยู่ใกล้หรือไกลจากเป้าหมายของชีวิต และรู้ว่าทำสิ่งใดจึงจะสมความปรารถนาโดยไม่มีขีดจำกัด อีกทั้งสามารถมองสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้โดยฉับพลัน การเข้าถึงพลังแห่งความรู้สึกสามารถทำได้โดยวิธีการดังนี้
          1.1 ฝึกสมาธิเพื่อทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตสงบจึงจะสามารถมองสิ่งต่างๆ ได้ชัดเจน
          1.2. ไม่ปรุงแต่ง ไม่สำคัญมั่นหมาย รับรู้ปล่อยวาง สักแต่รู้ สักแต่เห็น เมื่อจิตอยู่ในภาวะสงบและมีสติรู้เนื้อรู้ตัวจะช่วยให้มองเห็นตัวกูของกู (ego)
          1.3. อยู่กับสภาพธรรมชาติบ่อยๆ และนานที่สุด เพราะพลังสติจะเกิดขึ้นตามสภาวะธรรมชาติ เช่น เดินตามชายทะเล ป่าเขาลำเนาไพร ได้ยินเสียงลำธารต่างๆ เป็นต้น สภาพธรรมชาตินี้ทำให้จิตสงบ เมื่อนั้นปัญญาต่างๆ ก็ผุดขึ้น ทำให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่

     กฎข้อที่ 2 กฎของการให้และการรับ (The Law of Giving and Receiving)
     การให้ไม่ใช่แค่ด้านวัตถุเงินทอง หรือสิ่งของ แต่รวมถึงการให้ทางด้านจิตวิญญาณด้วย เช่น มีความปรารถนาดีต่อผู้อื่น รู้จักให้อภัย ให้ความสุข และที่สำคัญคือต้องให้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ให้โดยไม่มีเงื่อนไข ให้โดยไม่คิดถึงสิ่งตอบแทนใดๆ และต้องฝึกเป็นผู้ให้ก่อน เช่น เมื่อต้องการความรัก เราต้องเริ่มให้ความรัก ความเห็นอกเห็นใจ ความอบอุ่น ความมีน้ำใจต่อผู้อื่นก่อน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะกลับเข้ามาในชีวิตอย่างมากมาย ฉะนั้น ถ้าอยากรวย อยากมีความสุข อยากเจริญก้าวหน้าจะต้องรู้จักเป็นผู้ให้ก่อน
นอกจากการรู้จักให้แล้วยังต้องรู้จักการรับ ต้องรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ ต้องรู้สึกขอบคุณคนที่ให้สิ่งต่างๆ กับเราทุกรูปแบบ ตอบรับการให้ด้วยรอยยิ้ม คำพูด หรือการตอบแทนอื่นๆ เป็นต้น แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวัง คือการคอรัปชั่น การฉ้อโกง แม้จะเป็นการให้เหมือนกัน แต่เป็นสิ่งที่ผิด จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรรับและไม่ควรให้

     กฎข้อที่ 3 กฎแห่งกรรม (The Law of Cause and Effect)
     ทำสิ่งใดก็จะได้รับผลของกรรมนั้น ถ้าอยากมีความสุขเราต้องสร้างปัจจัยของความสุขนั้น แต่คนส่วนใหญ่ไม่ได้สร้างปัจจัยของสิ่งที่ตนเองต้องการเนื่องจากมักจะพูดและทำโดยไม่คิด ไม่มีความรู้เนื้อรู้ตัว จึงไม่รู้ว่าผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นมีประโยชน์หรือโทษต่อตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ฉะนั้น ก่อนพูดหรือลงมือทำอะไรต้องมีสติรู้เนื้อรู้ตัวว่า สิ่งที่กำลังจะพูด หรือกำลังจะทำมีผลอะไรตามมาบ้างและผลนั้นทำให้เรามีความสุขมากขึ้นหรือทุกข์ลงมากขึ้น ทำให้เราเจริญก้าวหน้าหรือถอยหลัง ดังนั้นเราควรฝึกสติเพื่อนำมาใช้เลือกสิ่งที่พูด เลือกสิ่งที่ทำ ในกรณีที่เราคิดไตร่ตรองแล้วยังไม่รู้ว่าสิ่งที่เราเลือกมันถูกหรือผิด ให้ดูอารมณ์ความรู้สึก (Listen to Your Heart) เพราะอารมณ์ความรู้สึกคือฐานแห่งปัญญา และเป็นตัวบอกว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นมันใช่หรือไม่ใช่ ควรทำหรือไม่ควรทำ

     กฎข้อที่ 4 กฎว่าด้วยการทำอะไรอย่างสบายใจ ไม่ต้องฝืน (The Law of Least Effort)
     หากเราลงมือทำสิ่งที่เราตัดสินใจมาแล้ว มีความรู้สึกโล่งโปร่งสบาย แสดงว่าสิ่งที่ตัดสินใจนั้นถูกต้อง แต่หากทำแล้วกลับรู้สึกว่าทรมาน อึดอัด มีความขุ่นข้องหมองใจ ต้องฝืนทำ แสดงว่าสิ่งที่กำลังทำและพูดอยู่นั้นไม่ถูกต้อง มีการปรุงแต่งตัวกูของกูเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือหลังจากที่เราตัดสินใจทำสิ่งที่เลือกแล้วว่าใช่ เราต้องตั้งจิตว่าเราจะรับผิดชอบกับสิ่งที่เราพูดและกระทำทั้งหมด จะไม่โทษผู้อื่น การบอกตัวเองได้ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้มีสติ มีความสำรวมขึ้น ถึงแม้มีความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างก็ไม่เป็นไร ถือว่าเป็นการเรียนรู้เพื่อที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก

     กฎข้อที่ 5 กฎของการตั้งจิตและจดจ่ออยู่ในปัจจุบัน (The Law of Intention and Desire)
     การตั้งจิต คือการตั้งเป้าหมาย (Goals) อาจเป็นได้ทั้งเป้าหมายระยะสั้น (Short-term Goals) ระยะกลาง (Medium-term Goals) และระยะยาว (Long-term Goals) จากนั้นต้องจดจ่อในสิ่งที่กำลังทำ ไม่คิดฟุ้งซ่านหรือนอกเรื่อง ไม่กังวลใจว่าผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเมื่อเรากังวลจะมีแต่ความทุกข์ร้อนหมองหม่น ฉะนั้น ต้องเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมคือ ทำสิ่งไหนก็ได้สิ่งนั้น เราจะไม่กังวลเรื่องในอดีต ไม่ว้าวุ่นเรื่องในอนาคต ให้จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน

     กฎข้อที่ 6 กฎของการปล่อยวางไม่สนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น (The Law of Detachment)
     การฝึกไม่ยึดมั่นถือมั่นสำคัญมั่นหมายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือตั้งจิต จดจ่อ แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น เชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรม สรรพสิ่งในโลกนี้มันเกิดดับเปลี่ยนแปลง เราสร้างเหตุปัจจัยอะไรแล้วหรือยัง และสิ่งที่เรากำลังทำจะก่อให้เกิดผลอะไร เมื่อให้ความใส่ใจกับสิ่งที่ทำอย่างเต็มที่แล้วแต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ให้รู้จักปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น เพราะสิ่งที่จะบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของเราก็คือ ความคิดในแง่ลบของตัวเรานั่นเอง ฉะนั้น ก่อนลงมือทำสิ่งใดให้วางแผนอย่างละเอียดรอบคอบ เตรียมพร้อมรับมือและลงมือกระทำอย่างสุดความสามารถโดยไม่ต้องสนใจผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

     กฎข้อที่ 7 กฎธรรมชาติว่าด้วยเราเกิดมาทำไมบนโลกใบนี้ (The Law of Karma)
     การเข้าใจในกฎธรรมชาติ ธรรมะ หรือ อิทัปปัจจยตา เป็นการรวมกฎ 6 ข้อข้างต้นเข้าไว้ด้วยกัน คือการยอมรับสรรพสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราทั้งบวกและลบ ยอมรับว่าโลกมี 4 คู่คือ สุขทุกข์ สมหวังผิดหวัง มีได้มีเสีย และมีสรรเสริญมีนินทา การยอมรับกฎธรรมชาติว่าตัวเราเองเกิดมาทำไม รู้ว่าจิตใจของเราแต่ละขณะอยู่ในสภาวะธรรมชาติ หรือปรุงแต่งด้วยอิทธิพลของตัวกูของกู และรู้ว่ายังมีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราต้องเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ทำให้เราสามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเอง มีแผนที่ชีวิตที่ชัดเจน สามารถยกระดับจิตใจให้สูงขึ้น และนำมาซึ่งชีวิตที่มีความสุขและความมั่งคั่ง 
 
Copyright © ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
การสมัครสมาชิก

1. สมัครได้ที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English
  • สาขาสีลม โทร 02-631-2288  
  • สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โทร 02-937-2121
2. โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชื่อบัญชี คุณบุญชัย โกศลธนากุล เลขที่บัญชี 206-238272-5

จากนั้น scan ใบ Pay in หรือ Slip ATM โดยระบุชื่อ-นามสกุล และเบอร์ติดต่อ ส่ง e-mail มาที่ info@fast-english.com  และกรุณาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 02-937-2121
รูปแบบสมาชิก
  1. สมาชิกระยะเวลา 6 เดือน (มูลค่า 500 บาท)
  2. สมาชิกระยะเวลา 1 ปี (มูลค่า 900 บาท
  3. สมาชิกระยะเวลา 1 ปีครึ่ง (1,200 บาท)
  4. สมาชิกระยะเวลา 2 ปี (มูลค่า 1,500 บาท)