สิบขั้นตอนสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงาน

สิบขั้นตอนสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงาน


Excerpt จากรายการ New Dimensions

FM 96.5 ทุกวันอาทิตย์เวลา 9.00 – 10.00 น.

โดย
ดร.บุญชัย โกศลธนากุล

 


สิบขั้นตอนสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงาน

     
เนื่องจากสังคมในปัจจุบันเต็มไปด้วยการแข่งขันในด้านต่างๆ โดยเฉพาะในด้านหน้าที่การงาน ดังนั้น เราจำเป็นต้องมีกลวิธีที่แยบยลในการบริหารตนเอง เพื่อก้าวไปสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงานโดยยุทธวิธีของผู้ที่ประสบความสำเร็จที่จะนำเสนอ คือ David Alessandro ซึ่งดำรงตำแหน่ง CEO แห่งบริษัทจอห์นแฮนด์ค็อกซ์ ไฟแนนเชียล แอนด์ เซอร์วิสเซส ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นแนวหน้าในศตวรรษที่ 20 ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของหนังสือ Bestseller คือ Brand Warfare นอกจากนั้น ผลงานที่ได้รับความนิยมอีกเล่มหนึ่งคือ Career Warfare ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วย สิบขั้นตอนเพื่อการก้าวสู่จุดสูงสุดในหน้าที่การงาน มีประเด็นสำคัญ อยู่ 3 ประการ คือ
          - Personal Brand ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า คนเราจะก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้นั้นต้องมี Personal Brand หรือ Reputation คือ การมีภาพพจน์ภาพลักษณ์และชื่อเสียงในแง่บวก โดยเมื่อบุคคลใดก็ตามเอ่ยชื่อเราขึ้นมา จะต้องมีแต่สิ่งดีๆ ให้นึกถึง ดังนั้น การจะมี Personal Brand ได้นั้น จะต้องมีการควบคุมพฤติกรรมตนเอง จะทำสิ่งใดต้องรู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่า ขณะนี้กำลังทำสิ่งใดอยู่ และทำไปเพื่ออะไร เป็นต้น
          - Right Quality คือ การมีคุณสมบัติในแง่บวกให้เป็นที่ยอมรับในสายตาผู้อื่นได้มากที่สุด และควรเป็นคุณสมบัติที่พิเศษกว่าผู้อื่น เช่น ในด้านความสามารถที่โดดเด่น ประสบการณ์ที่มีมายาวนาน ความสามารถในการเจรจา เป็นต้น และที่สำคัญ เมื่อจะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใดควรศึกษาวัฒนธรรมในองค์กรนั้นๆ ก่อนว่าไปในแนวทางใด เพื่อป้องกันการเกิดภาพลักษณ์ในแง่ลบ เพราะหากเกิดขึ้นแล้วยากที่จะเปลี่ยน แม้ว่าเราจะมีคุณสมบัติด้านบวกก็ไม่สามารถหักลบกันได้
          - กิริยามารยาท การจะก้าวหน้าในองค์กรใดได้ ต้องมีกิริยามารยาทที่เหมาะสมเป็นไปในแนวทางเดียวกับองค์กรนั้นๆ ด้วย เช่น บริษัทเน้นการขาย เราก็ต้องเป็นยอดนักขาย บริษัทเน้นการให้บริการเราก็ต้องเป็นผู้ให้บริการที่ดี เป็นต้น

     1. การสร้าง Personal Brand ประกอบด้วยคุณสมบัติดังนี้
          1.1. ต้องทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ตามความต้องการขององค์กร เช่น ทำรายได้ให้องค์กรมากๆ
          1.2. ต้องมีความซื่อสัตย์ เชื่อถือได้ พูดความจริง
          1.3. รู้จักระงับคำพูด ไม่ควรนินทาว่าร้ายเจ้านาย และเพื่อนร่วมงานทั้งต่อหน้าและลับหลัง เพราะจะทำให้มีบุคลิกที่ไม่น่าไว้วางใจ
          1.4. รักษาคำมั่นสัญญา มีสัจจะ
          1.5. ทำให้ผู้อื่นอยากมาทำงานกับเรา ทำได้โดย
               1.5.1. ต้องมีความรู้ความสามารถ มีเมตตากรุณา มีความเป็นผู้นำ เป็นเจ้านายที่ดี
               1.5.2. ต้องบริหารลูกน้องตามความเหมาะสมในแต่ละบุคคล เพราะพื้นฐานมาแตกต่างกันจะบริหารด้วยวิธีเดียวกันทั้งหมดไม่ได้
               1.5.3. ต้องเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถ มาร่วมงานด้วย เพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่เรา
               1.5.4. ต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ทุกคนเท่าเทียมกัน ใช้เรื่องงานเป็นตัวตัดสิน มิใช่เรื่องส่วนตัว

     2. ห้ามทะเลาะและนินทาว่าร้ายเจ้านาย เพราะเจ้านายสามารถเสนอการเลื่อนขั้นให้คุณได้ ซึ่งจะมีผลต่อการขึ้นเงินเดือนหรือโบนัสของคุณ เจ้านายสามารถเลือกได้ว่าจะถ่ายทอดความรู้ให้คุณหรือไม่และเรื่องใด สามารถมอบหมายงานที่คุณทำได้ หรืออาจจะทำไม่ได้ให้คุณโดยที่คุณไม่มีสิทธิเลือก สามารถสนับสนุนหรือปลดคุณออกได้ทุกเมื่อ และอาจส่งคุณไปประจำการที่ไหนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องรอการเห็นชอบจากคุณ
     นอกจากนั้น อย่าคิดว่าจะไปขอความยุติธรรมจากหัวหน้าของเจ้านายคุณอีกที เพราะเมื่อเปรียบเทียบคุณกับเจ้านายแล้ว คุณเปรียบเหมือนมดตัวเล็กๆ ตัวหนึ่งเท่านั้นเอง ทั้งในด้านความสามารถและในการให้ผลประโยชน์ต่อองค์กร ซึ่งหากไปร้องขอความยุติธรรมอาจจะได้รับความเห็นใจ หรืออาจจะถูกมองไปในแง่ลบไปเลยก็ได้ว่า ไม่มีความสามารถในการเข้ากับผู้ร่วมงาน หรือถูกมองว่าไม่มีความอดทนก็เป็นได้ หากจำเป็นที่จะต้องเถียงกับเจ้านาย ให้ระมัดระวังกิริยาอาการ คำพูด สายตา ไม่ให้เชือดเฉือนหรือแสดงความไม่พอใจ หรือดูถูกเจ้านาย ถึงแม้ว่าเราจะรู้ว่าเราเป็นฝ่ายถูกก็ตามที อย่าคิดว่าคนถูกจะพูดอะไรก็ได้ จะใช้สายตาอย่างไรก็ได้ ดังนั้น เราควรแสดงความเห็นอย่างมีเหตุมีผล ค่อยๆ พูด ค่อยๆ จา อย่าใช้อารมณ์ และเมื่อถึงที่สุดแล้วเจ้านายไม่ยอม เราจึงค่อยหาหนทางให้เจ้านายรับผิดชอบในสิ่งที่เขาตัดสินใจเอง เช่น อาจจะขอลายเซ็นไว้เป็นหลักฐาน ผู้แต่งได้แบ่งประเภทของเจ้านายไว้ทั้งหมด 7 ประเภท ดังนี้
          2.1. Mentor เป็นเจ้านายที่ดี ชอบสอนงาน มีความหวังดีต่อเรา อยากให้เรามีความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงาน เห็นอกเห็นใจลูกน้องเมื่อถึงขั้นวิกฤติจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลืออย่างเต็มใจ
          2.2. เจ้านายที่ใช้ลูกน้องเป็นทางผ่านใช้ลูกน้องเป็นเครื่องมือเพื่อแสวงหาความก้าวหน้าในหน้าที่การงานซึ่งเมื่อก้าวถึงจุดที่ต้องการแล้วก็ทิ้งลูกน้องอย่างไม่สนใจใยดี
          2.3. เจ้านายที่ไม่ยอมทำอะไรด้วยตนเองเลยใช้ลูกน้องเป็นอย่างเดียว
          2.4. เจ้านายที่คิดจะใช้เราเพียงครั้งเดียว เช่น เป็นงานโครงการหนึ่งๆ ที่ต้องมาร่วมงานกันแล้วก็ผ่านไป
          2.5. เจ้านายที่ชอบจับผิดลูกน้องอยู่ตลอดเวลา
          2.6. เจ้านายที่คอยจะกำจัดเราอยู่ตลอดเวลาทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ คอยสบประมาท ฉีกหน้า และต้องการจะกดดันให้เราออกจากองค์กร หรือแผนกนั้นๆ ไป
          2.7. เจ้านายที่คิดว่าตนเองนั้นเก่งที่สุดแล้วและคิดว่าลูกน้องนั้น ยังอ่อนหัด อ่อนซ้อมยิ่งนักและไม่สามารถเรียนรู้สิ่งใดได้เลย ยังไม่เก่งและจะไม่มีวันเก่งเท่าเขาได้โดยเด็ดขาด
     จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ามีเพียงประเภทเดียวที่เป็นเจ้านายที่ดี ส่วนอีก 6 ประเภท เป็นเจ้านายที่ร้ายๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความไม่ให้เกียรติเพื่อนมนุษย์ ไม่ให้เกียรติเพื่อนร่วมงานหากเราจำเป็นต้องเจอเราจะมีวิธีรับมืออย่างไร ซึ่งจะกล่าวต่อไป

     3. วิธีการรับมือกับเจ้านาย
          3.1. ก่อนเข้าไปทำงานให้ศึกษาข้อมูลเจ้านายคนนั้นให้ถ่องแท้เสียก่อน หรือเมื่อเข้าไปทำงานในระยะแรกลองพิจารณาดูพฤติกรรมของเจ้านาย หากเห็นท่าไม่ดี เข้าข่าย 6 ประเภท พิจารณาแล้วว่าอยู่ไปคงไม่ก้าวหน้า ต้องรีบเปลี่ยนเจ้านาย หรือเปลี่ยนงาน และการจะเลือกเจ้านายที่ดีนั้นจะต้องไม่โลภ ยกตัวอย่างเช่น หากมีข้อเสนอให้เลือกระหว่าง เงินเดือนที่ดี กับเจ้านายที่ดี ควรเลือกเจ้านายที่ดีมากกว่า เพราะจะทำให้เราได้ เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่หาไม่ได้จากในตำรา และเราจะมีความสุขในการทำงาน นอกเหนือจากการเลือกหาเจ้านายที่ดีแล้วนั้น ต้องมองว่าเราเข้ากันได้ มี Chemistry ที่ตรงกันกับเจ้านาย หรือไม่มีแนวความคิดไปในทางเดียวกันหรือไม่
          3.2.  หากจำเป็นต้องทำงานกับเจ้านายที่เข้ากันไม่ได้ จะต้องรับมืออย่างไร โดยให้ชั่งน้ำหนักดูว่าประโยชน์ที่เราจะได้รับจากองค์กรนั้น คุ้มหรือไม่กับการที่เราจะต้องทนทรมานกับการทำงาน และต้องดูประกอบกับระยะเวลาที่เราตั้งใจไว้ว่าจะอยู่นานแค่ไหน เพราะที่สุดแล้วเราคงไม่ทำกับองค์กรนั้นๆ ตลอดทั้งชีวิต แต่ถ้าจำเป็นต้องย้ายงานให้ย้ายด้วยเหตุผลทางการงาน ไม่ใช่เหตุผลส่วนตัว
          3.3. จะรู้ได้อย่างไรว่าเจ้านายของเรานั้นดีจริงให้สังเกตตอนสภาวะวิกฤต ตอนเราลำบากจริงๆ นั้นเจ้านายยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเราบ้างหรือไม่

     4. การวางตัวที่เหมาะสม
          4.1. รู้จักการแสดงน้ำใจและเคารพต่อเจ้านาย เพื่อนร่วมงานและลูกน้อง
          4.2. อย่าเกลือกกลั้วกับสิ่งที่มัวหมองทั้งปวง เช่น คบหากับกลุ่มคนที่ฉ้อโกง พวกเจ้าถิ่นวางอำนาจ พวกที่ชอบแบ่งพักแบ่งพวก เพราะจะทำให้ภาพพจน์เราเสื่อมเสีย ทำให้เจ้านายสูญเสียความไว้วางใจในตัวเรา
          4.3. แต่งตัวให้ดูดี มีกาลเทศะ เหมาะสมกับหน้าที่ ตำแหน่ง และสถานการณ์
          4.4. อย่าทำตัวเป็นคนที่ชอบตัดสินคนอื่น ควรจะมีความสุขุมในการมองสถานการณ์ และใจเย็น ค่อยๆ คิด ค่อยๆ ตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อประกอบการตัดสินใจ
          4.5. อย่าปล่อยเนื้อปล่อยตัวมากไปในงานสังสรรค์ เพราะเมื่อเราผ่อนคลายอยู่นอกเหนือการทำงาน เราจะแสดงนิสัยดั้งเดิมออกมา ซึ่งจะมีเจ้านายคอยสังเกตพฤติกรรมของเราอยู่ และที่สำคัญ ห้ามเมาจนขาดสติโดยเด็ดขาด
          4.6. ห้ามนำสามี ภรรยา หรือแฟนไปงานสังสรรค์ด้วย เพราะถ้าเป็นแฟนแล้วเปลี่ยนหน้าบ่อยๆ จะทำให้ภาพพจน์เรากลายเป็นคนโลเล ไม่มั่นคง และหากคู่รักของเราเป็นคนปากสว่างไปเล่าพฤติกรรมต่างๆ ให้เจ้านายฟัง จะทำให้ภาพพจน์ที่สร้างไว้เสียหายได้

     5. ห้ามอยู่ในองค์กรที่ยากจะเจริญ ในที่นี้หมายความว่า ให้กำหนดระยะเวลาในการอยู่องค์กรนั้นๆ ว่าจะอยู่ถึงเมื่อไรจึงจะต้องย้ายออก ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นธุรกิจในครอบครัว แล้วเราซึ่งเป็นคนนอก คงจะมีโอกาสในการเจริญได้น้อยกว่าคนในหมู่ญาติๆ หรือกรณีองค์กรที่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก เราเป็นผู้ที่เข้าไปใหม่ ย่อมต้องเข้าไปอยู่ในพวกใดพวกหนึ่งโดยปริยายซึ่งหากเราเข้าพวกผิดเราก็ไม่เจริญ หรือถ้าเข้าพวกถูกก็ต้องคอยรับมือกับอีกฝ่ายที่คอยเป็นตัวบั่นทอนการทำงานอีกเหมือนกัน หรือในกรณีองค์กรขนาดเล็กที่บริหารโดยเถ้าแก่ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเอาแต่ใจตนเอง ตัดสินคนจากมุมมองของตนเองเพียงฝ่ายเดียว แสดงให้เห็นว่าเราคงยากที่จะเจริญ ดังนั้น จึงต้องตั้งระยะเวลาที่แน่นอน กำหนด Career Path ในการอยู่ที่องค์กรนั้นๆ ว่าจะอยู่นานแค่ไหน และต้องรู้จุดเปลี่ยนว่าจะย้ายงานเมื่อไหร่ และอยู่เพื่ออะไร และในการอยู่ที่นี่เราจะได้รับความรู้ใดที่จะนำพาเราไปสู่เป้าหมายหลักในชีวิตได้บ้าง

     6. เมื่ออยู่ในตำแหน่งที่สูงและเริ่มมีอำนาจจะต้องวางตัวอย่างไรโดยเฉพาะการวางตัวในที่ประชุม เพราะจะมีผู้บริหารระดับสูงคอยจับตามองเราอยู่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลื่อนตำแหน่ง หรือเพิ่มเงินเดือนของเราในอนาคตได้ การประชุมแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
          6.1. Staff Meeting เป็นการประชุมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นที่ที่ต้องระมัดระวังให้มาก เพราะจะมีเจ้าหน้าที่แผนกอื่นๆ มาเป็นตัวเปรียบเทียบ ดังนั้น เราจึงต้องพยายามดำเนินการประชุมให้ราบรื่นและห้ามแสดงภาวะบีบคั้นต่อพนักงานคนอื่นๆ หรือบีบคั้นเจ้านายของเราให้คล้อยตามเรา เพราะจะทำให้ภาพลักษณ์ของเราเป็นไปในทางลบ หากเป็นเรื่องสำคัญให้คุยกับเจ้านายนอกรอบ
          6.2. Control Meeting เป็นการประชุมเพื่อให้ที่ประชุมอนุมัติงบประมาณให้แก่หน่วยงานของเรา ดังนั้น เราต้องรู้ให้แน่ว่าใครเป็นบุคคลสำคัญที่อนุมัติงบประมาณในครั้งนี้ และต้องศึกษามาก่อนว่า ควรจะทำอย่างไร จึงจะได้งบประมาณ แต่เมื่อผลที่สุดออกมาแล้วไม่เป็นอย่างที่หวัง ก็ให้ยอมรับโดยดุษฎี ไม่ตีโพยตีพาย แต่หากได้ตามที่คาด ก็ไม่ควรแสดงท่าทางดีใจจนออกนอกหน้า เพราะจะแสดงถึงภาวะไม่เป็นมืออาชีพ และที่สำคัญ หากเรารู้ว่าเป็นการประชุมเจ้านายระดับสูง แล้วถ้าเราเข้าประชุมเพียงคนเดียวอาจจะไม่มีกำลังพอ ควรต้องเตรียมให้เจ้านายเข้าประชุมด้วย
          6.3. Presentation อย่าพูดตัดบทหรือแสดงการดูถูกผู้พูดในที่ประชุม เพราะจะดูเป็นคนโหดร้าย ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้ ทำให้เจ้านายเห็นภาพลักษณ์เราในแง่ที่ไม่ดี ทำให้เจริญก้าวหน้าลำบาก และที่สำคัญ เป็นการสร้างศัตรู ดังนั้น ก่อนการวิพากษ์วิจารณ์ ให้ตั้งใจว่าการวิจารณ์ในครั้งนี้จะทำเพื่อองค์กร ทำให้องค์กรดีขึ้น และเพื่อให้โครงการนี้มีจุดบกพร่องน้อยที่สุด การวิจารณ์ควรบอกทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่สำคัญ ควรมีทางแก้ไขให้ด้วย และหากผู้พูดเริ่มพูดออกนอกเรื่อง ก็อาจจะต้องขัดจังหวะเพื่อดึงเรื่องเข้าสู่ประเด็นที่เหมาะสม การวิจารณ์นั้นทุกคนสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ประธานในที่ประชุม แต่ผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นจะต้องมีจิตใจที่อยากพัฒนาองค์กรให้เป็นไปในแนวทางที่ดีและเต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

     7. เมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูจะรับมืออย่างไร และจะทราบได้อย่างไรว่าภัยกำลังจะมาถึงท่าน แม้ว่าเราจะพยายามทำดีแค่ไหน วางตัวดีแค่ไหน ตั้งใจทำงานดีแค่ไหน สุดท้ายทุกคนก็ต้องมีศัตรูซึ่งเกิดจากความอิจฉาริษยา ความน้อยเนื้อต่ำใจ การเอาความคิดของตนเองเป็นตัวตัดสิน ซึ่งเป็นธรรมดาของโลกมนุษย์ ฉะนั้น เราจึงต้องมองความจริงตรงตามความเป็นจริง อย่ามองแต่ตัวเอง และไม่ต้องสงสัยว่าทำไมคนอื่นถึงไม่เข้าใจเรา เพราะทุกคนมาจากที่ต่างๆ กันจะให้เหมือนกันหมดคงเป็นไปไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเรามีความตั้งใจที่จะพัฒนาองค์กรมากขึ้นเท่าไร ก็จะบังเกิดบุคคลที่อิจฉาริษยามากขึ้นเป็นเงาตามตัว ดังนั้น การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะนั้นจำเป็นจะต้องมี EQ ซึ่งมีประเด็นสำคัญดังนี้
          7.1.  Self Awareness คือ การรู้เนื้อรู้ตัว รู้จักตนเอง รู้ขอบเขตความสามารถของตนเอง
          7.2.  Self Control คือ มีความสามารถในการควบคุมอารมณ์
          7.3.  Sympathy คือ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
          7.4.  Social Skill คือ มีทักษะในการเข้ากับผู้อื่นได้ดี
          7.5.  Motivation คือ มีความกระตือรือร้นในการทำงาน

     8. ทำอย่างไรเมื่อขึ้นมาเป็นผู้นำแล้วจะควบคุมตนเองไม่ให้หลงในอำนาจ มีสัจจธรรมข้อหนึ่งกล่าวไว้ว่า ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการหลงระเริงในอำนาจ และมีการใช้อำนาจในทางที่ผิด นอกจากนั้นแล้ว มนุษย์ส่วนใหญ่มักคิดว่าเมื่อเปลี่ยนตำแหน่งก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนการวางตัว เปลี่ยนวิธีพูด และมักจะสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ให้ตนเอง และคิดว่าจะทำสิ่งใดก็ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะหากเราทำเช่นนั้นภาพลักษณ์ที่เราสั่งสมมา ก็จะถูกทำลายไปในพริบตา และจริงๆ แล้วกฎเกณฑ์ของผู้นำควรจะต้องเข้มงวดกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา และเมื่อทำผิดพลาดก็ต้องรับโทษหนักกว่าลูกน้อง แต่ผู้มีอำนาจมักมีแนวโน้มที่จะคิดว่าตนอยู่เหนือกฎเกณฑ์ ดังนั้น จึงต้องมีการป้องกันการหลงผิดดังนี้ 1) จับผิดตนเองว่าในขณะนี้เราเริ่มพูดจาสามหาว หยาบคายบ้าอำนาจบ้างหรือไม่ 2) ให้คนใกล้ชิดหรือเพื่อนร่วมงานที่ไว้ใจได้ช่วยจับผิด 3) ให้เพื่อนสนิทช่วยจับผิด 4) เห็นอกเห็นใจคนที่ทำผิดบ้าง 5) รู้จักปลีกความสนใจออกจากการทำงานบ้างให้รู้จักแลกเปลี่ยนความคิด พูดคุยกับผู้ร่วมงานบ้าง เพราะการหมกมุ่นกับงานมากๆ จะทำให้เรามองเห็นแต่ตนเอง ทำให้เกิดอัตตา คิดว่าตนนั้นเก่งคนเดียว ความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากเราเท่านั้น เพราะเราทำงานหนักกว่าผู้อื่น และการที่เคร่งเครียดมากๆ จะทำให้สมองล้า ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์จะลดน้อยลง ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจด้อยลงไป
     สรุปก็คือ การตั้งใจทำงานนั้นให้อยู่แต่ในความพอดี และให้ตั้งใจว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้ทำเพื่อองค์กร มิใช่เพื่อตนเอง คิดได้อย่างนี้ เมื่อเราจะทำสิ่งใด จะเกิดความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะเกรงผลกระทบที่จะตามมา ซึ่งเป็นวิธีใช้สภาวะภายนอก เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของเราอีกที เมื่อศึกษานิสัยจากผู้ที่ประสบความสำเร็จหลายๆ คน จะพบว่าผู้นำที่ได้รับความเคารพจริงๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจบาตใหญ่ ไม่จำเป็นต้องวางอำนาจใดๆ เลยเพียงแต่มีคุณสมบัติดังนี้ 1) มีกำลังสมาธิและสติที่มากพอ เพราะจะทำให้มีบุคลิกที่น่าเชื่อถือมีความหนักแน่นและไว้ใจได้ 2) กล้าตัดสินใจกล้าลงมือกระทำ 3) ใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็น 4) มีความเมตตากรุณา 5) มีความเคารพและให้เกียรติผู้อื่น

     9. ยิ่งบินสูง โอกาสที่จะถูกยิงร่วงลงมานั้นมีมากจะป้องกันได้อย่างไร
          9.1. เมื่อเกิดปัญหาใดๆ ก็ตาม ห้ามเก็บตัวเงียบอยู่คนเดียว ต้องออกมาชี้แจงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากอะไร และเป็นปัญหาที่ควบคุมได้หรือไม่ และต้องแก้ไขอย่างไรเป็นอันดับแรก ต้องอธิบายอย่างมีเหตุมีผล ห้ามปล่อยให้ข่าวเกี่ยวกับตัวคุณถูกกระพือไปในวงกว้างโดยที่คุณควบคุมไม่ได้และไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงจนเข้าใจผิดว่าข่าวนั้นถูกต้อง และกลายเป็นภาพลักษณ์ของคุณไปโดยปริยาย
          9.2. ห้ามโทษผู้อื่น เพราะจะเป็นการแสดงว่าคุณไม่มีความเป็นผู้นำ ห้ามโยนความผิดไปให้ผู้อื่นโดยเด็ดขาด เพราะจะแสดงให้เห็นว่าคุณบกพร่องในหน้าที่ ไม่มีคุณสมบัติในการแจกแจงงานให้กับบุคคลที่เหมาะสม แต่หากว่าคุณพลาดไปแล้วก็ต้องกล่าวคำขอโทษ ยอมรับผิด และที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ต้องรีบเข้าไปชี้แจงให้เจ้านายรับรู้ก่อนที่เจ้านายจะเรียกคุณไปชี้แจง เพราะเจ้านายมักจะได้รับข้อมูลของคุณในแง่ลบมากกว่าแง่บวก
          9.3. ห้ามพูดเท็จ
          9.4. เวลามีปัญหาเกิดขึ้นอย่าปกป้องตนเองมากนัก ให้มองปัญหาที่เกิดขึ้นให้ชัดเจนว่ามันรุนแรงแค่ไหน มีผลกับตัวเรามากแค่ไหน และจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง เราต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้างหรือไม่ และที่สำคัญ ควรขอความคิดเห็นจากผู้ที่มีประสบการณ์ เพื่อช่วยเราแก้ไขสถานการณ์ ดังนั้น การจะเป็นผู้นำจะต้องสร้างเครือข่ายบุคคลที่พอจะให้ความช่วยเหลือได้ในยามวิกฤต

     10. จะทำอย่างไรให้ Personal Brand คงอยู่ตลอดไป
          10.1. ต้องทำตัวให้โดดเด่นในหน้าที่การงานอยู่เสมอ สามารถแสดงความสามารถของตนเองได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผู้ที่พร้อมที่จะให้ความร่วมมือ ให้คำแนะนำให้ความช่วยเหลือ และต้องเป็นผู้ที่พึ่งพาได้ทุกเวลา ทำให้ทุกคนอยากมาทำงานกับเรา
          10.2. ต้องขอเจ้านายให้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งให้ ด้วยวิธีการที่สุภาพและแยบยล คือต้องเสนอให้เจ้านายเห็นว่าเรามีความสามารถที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้นๆ และสิ่งที่เราทำนี้ทำด้วยความเต็มใจเพื่อพัฒนาองค์กร
          10.3. อย่าเอา Personal Brand ไปแลกกับ โครงการเล็กๆ เพื่อจะให้ตนเองไม่ถูกลืม แต่เราต้องเลือกทำสิ่งที่สำคัญๆ ที่เป็นแก่นของงาน และเกิดประโยชน์ต่อองค์กรมากที่สุด
          10.4. หากมีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งคราวใด จะต้องมีชื่อของเราด้วยทุกครั้ง เพื่อที่เจ้านายจะได้ไม่ลืมเรา
          10.5. กล้าสัญญาที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้า แต่ที่สำคัญ ต้องรู้จักการประมาณตนว่างานที่จะรับมานั้นสามารถทำได้จริงหรือไม่
          10.6. ต้องสร้างคนวงในที่เราเชื่อใจได้ และพร้อมที่จะคอยตักเตือนแนะนำเรา ด้วยความจริงใจ และเราก็ต้องให้ความจริงใจต่อองค์กรด้วย จึงจะไม่ใช่การจับกลุ่มเล่นพรรคเล่นพวก
          10.7. ห้ามโกหก ห้ามโกง ห้ามขโมย เพราะการมีอำนาจอยู่ในมือนั้น มีสิ่งล่อใจอยู่มาก และยากที่ใครจะตรวจสอบพบ ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีจะต้องมีสามัญสำนึกที่ดี ไม่ฉ้อโกง
          10.8. หา Personal Brand ของตัวเราเองให้ได้ และรักษาให้คงอยู่กับเราตลอดไปในทุกเวลา และทุกสถานการณ์

 
Copyright © ดร.บุญชัย โกศลธนากุล
การสมัครสมาชิก

1. สมัครได้ที่สถาบันพัฒนาภาษา Fast English
  • สาขาสีลม โทร 02-631-2288  
  • สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว โทร 02-937-2121
2. โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาเซ็นทรัลลาดพร้าว ชื่อบัญชี คุณบุญชัย โกศลธนากุล เลขที่บัญชี 206-238272-5

จากนั้น scan ใบ Pay in หรือ Slip ATM โดยระบุชื่อ-นามสกุล และเบอร์ติดต่อ ส่ง e-mail มาที่ info@fast-english.com  และกรุณาโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เบอร์ 02-937-2121
รูปแบบสมาชิก
  1. สมาชิกระยะเวลา 6 เดือน (มูลค่า 500 บาท)
  2. สมาชิกระยะเวลา 1 ปี (มูลค่า 900 บาท
  3. สมาชิกระยะเวลา 1 ปีครึ่ง (1,200 บาท)
  4. สมาชิกระยะเวลา 2 ปี (มูลค่า 1,500 บาท)